เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2567 สถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ชาวบ้าน หมู่ที่ 5 ตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เริ่มได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำ ท้ายเขื่อนเจ้าพระยา โดยความเร็วน้ำ 2 คืน น้ำขึ้นสูง 1 เมตร เสาวัดระดับน้ำกลางหมู่บ้าน พบว่าเหลือให้เห็นอีกไม่ถึง 50 เซนติเมตร ระดับน้ำจะเทียบเท่ากับเดือนพฤศจิกายน ปี 66 ซึ่งระดับน้ำยังมาต่อเนื่อง คาดระดับน้ำปีนี้ ทะลุสูงกว่าปี 66 แน่นอน ซึ่งระดับน้ำที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อย่างรวดเร็วทำให้ถนนเส้นทางหลักเข้าหมู่บ้านหมู่ที่ 5 ตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา จมน้ำไปแล้ว รถเล็กผ่านไม่ได้ชาวบ้านต้องใช้เรือในการเดินทาง
นอกจากนี้ชุมชนริมแม่น้ำน้อย ตำบลหัวเวียง หมู่ 4 ซึ่งอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำ เฝ้าติดตามการประกาศเตือนของทางราชการอย่างต่อเนื่อง โดยชาวบ้านได้เก็บของหนีน้ำไปแล้วส่วนหนึ่ง แต่ไม่คิดว่าน้ำจะขึ้นเร็วอย่างนี้ น้ำทะลักเข้าท่วมบ้านอย่างรวดเร็ว เนื่องจากว่าบ้านปลูกอยู่ในที่ลุ่มต่ำ ไม่มีกำลังเงินดีดบ้านให้สูงขึ้นเหมือนกับคนอื่น จึงถูกน้ำท่วม ต้องระดมเพื่อนบ้าน ลูกหลาน ใช้เรือพายเข้ามาเก็บของ ตัดระบบไฟฟ้าป้องกันอันตรายไฟฟ้าช็อต
ขณะที่เพจเฟซบุ๊ก กรมชลประทาน โพสต์ข้อความระบุว่า เขื่อนเจ้าพระยา ระบายน้ำเพิ่ม รับน้ำเหนือเพิ่มมากขึ้น
ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทานเปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ว่า วันนี้ (1 ก.ย. 67 เวลา 06.00 น.) ที่สถานีวัดน้ำ C2 อ.เมืองนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่านในอัตรา 1,485 ลบ.ม./วินาที แนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากปริมาณน้ำทางตอนบนและฝนที่ตกในพื้นที่ ก่อนจะไหลลงสู่เขื่อนเจ้าพระยา ทำให้ปริมาณน้ำบริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น กรมชลประทานได้รับน้ำเข้าระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยาในปริมาณที่จำเป็นเท่านั้น เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ที่ยังไม่ได้เก็บเกี่ยว พร้อมควบคุมการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ในอัตรา 1,399 ลบ.ม./วินาที เร่งระบายน้ำทางตอนบนลงสู่อ่าวไทยให้เร็วที่สุด ส่งผลให้ระดับน้ำบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำบริเวณคลองโผงเผง จังหวัดอ่างทอง คลองบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา ตำบลลาดชิด ตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (แม่น้ำน้อย) เพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันอีกประมาณ 50 ซม. ถึง 1.50 เมตร
ส่วนที่สถานีวัดน้ำ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา มีปริมาณน้ำไหลผ่านเฉลี่ยในอัตรา 1,400 ลบ.ม./วินาที จากอิทธิพลของสถานการณ์น้ำทะเลหนุนในช่วงวันที่ 30 ส.ค. – 5 ก.ย. 67 อาจจะส่งผลให้ระดับน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพมหานครบางพื้นที่ ยกตัวสูงขึ้น แต่จะไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่เศรษฐกิจของกรุงเทพมหานคร
ทั้งนี้ ปัจจุบัน (1 ก.ย. 67) 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 14,209 ล้าน ลบ.ม. (57% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) ยังสามารถรองรับน้ำได้รวมกันอีกกว่า 10,662 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ ได้ปรับลดการระบายน้ำ เพื่อช่วยลดผลกระทบด้านท้ายน้ำ แต่อย่างไรก็ตาม กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าในช่วงต้นเดือนกันยายนนี้จะมีปริมาณฝนตกเพิ่ม ในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งภาคกลาง ซึ่งอาจจะส่งผลให้ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น จึงยังคงต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดต่อไป