วันที่ 2 กันยายน 2567 นายชลธี ยังตรง ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา ในฐานะผู้อำนวยการจังหวัด ได้มีคำสั่งออกหนังสือในราชการกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดฉะเชิงเทรา พร้อมแสตมป์ด่วนที่สุด ที่ ฉช (กปภจ) 0021/ว 4789 ลงวันที่ 2 กันยายน 2567 จาก ผู้อำนวยการจังหวัดฉะเชิงเทรา/ผู้อำนวยการจังหวัด ถึง ผู้อำนวยการอำเภอสนามชัยเขต ผู้อำนวยการอำเภอท่าตะเกียบ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดฉะเชิงเทรา ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงฉะเชิงเทรา ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงชนบทฉะเชิงเทรา ท้องถิ่นจังหวัดฉะเชิงเทรา รวมถึงหน่วยงานทุกภาคส่วนในจังหวัดฉะเชิงเทรา มีเนื้อหาสาระคือ
กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) แจ้งว่า ได้ติดตามสภาวะอากาศ และพิจารณาปัจจัยเสี่ยง กอปรกับกรมอุตุนิยมวิทยาได้มีประกาศฉบับที่ 2 (157/2567) ลงวันที่ 2 กันยายน 2567 เวลา 15.00 น. แจ้งว่า ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้นและฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามัน และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น โดยทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร
สำหรับจังหวัดฉะเชิงเทรา มีพื้นที่แจ้งเตือนสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก ระหว่างวันที่ 3-9 กันยายน 2567 บริเวณอำเภอสนามชัยเขต และอำเภอท่าตะเกียบ (เอกสารที่แนบมาพร้อมนี้) เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมขัง ระหว่างวันที่ 3-9 กันยายน 2567 เห็นควรแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อำเภอสนามชัยเขต และอำเภอท่าตะเกียบ เพื่อประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ และประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยทราบล่วงหน้า และดำเนินการติดตามปริมาณฝนตกในพื้นที่แต่ละจุดอย่างใกล้ชิด
รวมถึงเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงฝนตกหนักและปริมาณฝนสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดอุทกภัยได้ พร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงภัยดังกล่าวตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งนี้ เมื่อเกิดสถานการณ์ภัยขึ้นในพื้นที่ ให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอำเภอสรุปสถานการณ์และรายงานให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดทราบทันที
ทางด้าน นายอำนวย เกษตรสินธุ์นุกูล นายอำเภอท่าตะเกียบ ก็ได้ส่งหนังสือด่วนที่สุด จากคำสั่งของท่านผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา ส่งเข้ากลุ่มไลน์อำเภอท่าตะเกียบ พร้อมเตรียมตั้งศูนย์ฯ ตลอด 24 ชั่วโมง ด้วยอำเภอท่าตะเกียบเองประสบภัยน้ำป่าไหลหลากที่หนักหน่วงในรอบปีนี้มาแล้วถึงสองครั้ง
ในวันเดียวกันนี้ จากฝนที่ตกเทลงมาอย่างหนักต่อเนื่องทำให้ในหลายพื้นที่ของอำเภอสนามชัยเขต มีน้ำป่าไหลหลากเอ่อล้นท่วมพื้นที่การเกษตร ไร่ นาข้าว มองไปมีแต่น้ำแดง และที่หนักสุดตรงพื้นที่ หมู่ที่ 1 ของตำบลลาดกระทิง อำเภอสนามชัยเขต น้ำป่าที่ไหลหลากยังทะลักซัดพนังดินพัง ทำให้มวลน้ำไหลหลากเข้าท่วมขยายวงกว้างไปในพื้นที่ตำบลคู้ยายหมี
ขณะที่ นายธงชัย พรมพิทักษ์ นายก อบต.คู้ยายหมี เผยว่า พนังดินที่พังถือว่ายังโชคดีน้ำป่าไม่หลากท่วมชุมชนบ้านเรือน แต่ไหลลงท้องทุ่งนา และไหลลงตามคลองต่อไป หากไม่มีฝนตกลงซ้ำสถานการณ์น้ำหลากก็จะคลี่คลายในไม่กี่ชั่วโมง